กรอบแนวคิด นโยบายในการดำเนินโครงการ
ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0505/ว 74 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) แจ้งว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guideline) และให้หน่วยงานราชการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ในการพัฒนา ส่งเสริม และนำไปใช้ในทางที่ถูกต้องและมีจริยธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อก่อประโยชน์ต่อสังคมต่อไปนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 รับทราบ และเห็นชอบตามที่เสนอ
มติ ครม. มอบหมาย ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในประเด็นหลักคิด นิยาม และแนวทางการแปลงแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ไปสู่การปฏิบัติ โดยให้พิจารณากำหนดหน่วยงานที่มีความพร้อมเพื่อเป็นหน่วยงานนำร่องในการดำเนินการในระยะแรก แล้วประเมินผลการดำเนินการก่อนขยายผลการดำเนินการในระยะต่อไป

ความสำคัญของ Ethical AI
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน มีการพัฒนาให้มีความชาญฉลาด และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเอาชนะความสามารถของมนุษย์ได้ในหลายด้าน อาทิ Alpha Go ซึ่งเป็นปัญญาหประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นโดย Google DeepMind [1] ที่สามารถเอาชนะแชมป์โลกเกมหมากล้อมได้ในปี 2560 ระบบ Watson เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย IBM สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ [2] จนก่อให้เกิดความกังวลว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะมีโอกาศเข้ามาแทนที่งานในหลายด้านของมนุษย์ และทำให้มนุษย์ต้องตกงานในหลายสาขาอาชีพ